Find in Page
Print
Print
Close
Close
:: บทเพลงประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต :: เพลงที่ 37 วันมหาวิปโยค

                  ประวัติหลวงปู่มั่น ตอนที่ ๓๗ 
ทำนอง : ธรณีกันแสง

    พอรู้กันว่าท่านสิ้นลมความทุกข์ตรมก็แผ่ไพบูลย์ ความตีบตันโศกสันต์เพิ่มพูน
ความอาดูรโหมใส่ไม่เว้น เข้ารุมสุมทรวงพระเณร
เหมือนใจจะขาดกระเด็นดิ้นดับลับชีวี มืดมนอนธการน้ำตาพลันไหลปรี่
อัดอั้นในฤดีชีวีแทบแหลกสลาย                -ดนตรี-
คืนวันมหาวิปโยคโศกอาลัย จิตใจว้าวุ่นขุ่นเป็นตม
โกลาหลอลหม่านทุกท่านหมองตรม บ้างเป็นลมล้มลงสลบไสล
ดังขาดดิ้นสิ้นใจ ด้วยแสนอาลัยจนเหลือคณา
-ดนตรี-
ยามชำเลืองไปเห็นองค์ท่านนอนนิ่งนานสงบทีไร หยาดน้ำตาหลั่ง
ย้อยฟูมฟายพรูพรั่งพรายไหลหยดทุกครา ให้เศร้าซึมทรวงแสน
ทรมาอุราจะแตกพลัน ตื้นตันเหว่ว้าอาดูร
ดังชีพสลายขาดหายมลายเป็นจุล ว้าวุ่นประดังไปทั้งราตรี
-ดนตรี-  แล้วเปลี่ยนเป็นทำนอง  --บังใบ

    ดังดวงประทีปสว่างไสว    เจิดจ้าแจ่มใสประดับดวงใจดับวูบลับไปแล้วไม่คืนหวนมา
-ดนตรี-
เย็นยะเยือกในอุราโอ้ราวกับว่าถูกเขาวางยาสลบไม่ฟื้นทั้งคืนง่วงงุ่นแสนทารุณเหลือดี
-ดนตรี-
เหมือนโลกธาตุขาดลงเป็นผงธุลี     สติสตังไม่มีให้พอได้เกาะอาศัย   อำนาจของความเสียใจ
มิมีสิ่งไหนเทียบกัน     แอบสะอื้นตื้นตันแสนจาบัลย์เศร้าสร้อย    ให้พลอยแต่ครางครวญ
กว่าจะคิดทบทวนในธรรมที่ท่านสอนไว้    ปลดปลงลดลงมาได้   เหมือนตายอยู่หลายชั่วโมง
-ดนตรี-

                                   -พูด-  บรรยาย ประวัติหลวงปู่มั่น ตอนที่ ๓๗
    คืนนั้นกว่าจะข่มใจและมีสติได้  ก็ต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่  จึงพอผ่อนคลายได้บ้าง  ส่วนศพของท่านนั้นทั้งฝ่ายพระผู้ใหญ่และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  ต่างเห็นต้องกันว่า  ควรเก็บไว้จนถึงเดือน ๓ ข้างขึ้นต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ค่อยถวายฌาปนกิจศพท่าน
ระหว่างก่อนจะถึงวันงานอีก ๓ เดือน  พระเณรและประชาชนต่างทยอยมาเคารพบูชาศพท่านไม่ขาดสาย  พอจวนวันงานจะมาถึงยิ่งล้นไหลกันมาทุกทิศทุกทางทั้งใกล้และไกล  งานนี้ไม่มีมหรสพใดๆ ทั้งสิ้น  เพราะเป็นงานกรรมฐานล้วนๆ
    งานนี้มีกำหนด ๓ คืนกับ ๔ วัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๓ ไปจนถึงขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๓ เครื่องไทยทานที่ประชาชนต่างมีศรัทธานำมาสมโภชโมทนาช่วยเหลือในงานนี้ กองขนาดเท่าภูเขาย่อยๆ เรานี่เอง
    วันขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๓ บรรดาลูกศิษย์ทั้งพระและประชาชนได้พร้อมกันทำวัตรขอขมาโทษท่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  จึงได้อาราธนาศพท่านไปสู่เมรุ  คราวนี้บรรดาศิษย์ฝ่ายฆราวาสหญิงชาย อดใจไว้ไม่ไหว  กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ต่างก็ปล่อยให้พรั่งพรูออกมา ด้วยความอาลัยเสียดายอย่างใหญ่หลวง เหมือนเป็นเครื่องสักการบูชาเป็นครั้งสุดท้าย  แด่ท่านพระอาจารย์ผู้ได้ทำลายกงกรรมของวัฏจักรเสียสิ้นแล้ว  เป็นผู้ทรงมหาคุณบุญหนักศักดิ์ยิ่ง  ผู้สิ้นกิเลสวิเศษศักดิ์สิทธิ์ที่แสนหายากยิ่งในสมัยแห่งปัจจุบัน  นานแสนนานจะได้พบได้เห็นเป็นขวัญตาขวัญใจที่ใฝ่ฝันมานานสักองค์หนึ่ง  แล้ววันถวายฌาปนกิจศพของท่านก็มาถึง คือวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๓ เวลาประมาณ ๖ ทุ่ม  ผู้คนในคืนนั้นประหนึ่งจะล้นแผ่นดินแออัดยัดเยียดจนจะหาทางเดินไม่ได้
    พอถึงเวลาถวายเพลิงท่านจริงๆ ขณะนั้นปรากฏมีเมฆก้อนหนึ่งขนาดย่อมๆ ลอยผ่านเหนือเมรุและโปรยละอองฝนมาเพียงบางๆ และแผ่วเบา  พร้อมๆ กับขณะที่ไฟเริ่มแสดงเปลวและโปรยอยู่ประมาณ ๑๕ นาที เมฆก็ค่อยๆ จางหายไปในท่ามกลางแห่งความสว่างแห่งแสงพระจันทร์ข้างขึ้น จึงเป็นที่น่าประหลาดและอัศจรรย์อย่างสุดจะคาดเดาได้
    เมื่องานถวายเพลิงท่านผ่านไปแล้ว  อัฐิของท่านมีการแจกไปกว่า ๒๐ กว่าจังหวัด และในเวลาต่อมา  อัฐิของท่านพระอาจารย์มั่น  ได้กลายเป็นพระธาตุ  แม้แต้เส้นเกศา (เส้นผม) ของท่านที่ปลงออกซึ่งมีผู้เก็บไว้บูชาในที่ต่างๆ ก็ได้กลายเป็นพระธาตุเช่นเดียวกัน


Copyright © 2002 - 2003 วัดป่าบ้านตาด ต. บ้านตาด อ. เมือง จ. อุดรธานี 41000
All Rights Reserved.