Find in Page
Print
Print
Close
Close
:: บทเพลงประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต :: เพลงที่ 32 อบรมพระ-เณรที่หนองผือนาใน

           ประวัติหลวงปู่มั่น ตอนที่ ๓๒ 
ทำนอง : ลาวคำหอม

    ท่านมาอยู่หนองผือนาในอำเภอพรรณานิคมจังหวัดสกลนคร ตามที่เขานิมนต์วิงวอน
จึงสัญจรมาจำพรรษา พระเณรทราบข่าวต่างเข้ามา
หวังพึ่งพาบารมีบุญพระอาจารย์
-ดนตรี-
มามอบกายถวายชีวัน หวังให้ท่านอบรม
-ดนตรี-
ธรรมรื่นรมย์ชโลมจิตใจ หวังจะเห็นธรรมล้ำเลิศอำไพ
ลุยน้ำข้ามป่ามาอาศัย หวังใบบุญพระคุณอาจารย์มั่น
-ดนตรี-
ช่วยลบภพชาติในปัจจุบัน มรรค-ผล-นิพพานนั้นคือแดนชัย
-ดนตรี-
จนท่านเองไม่อาจสามารถจะรับหวาดไหว
-ดนตรี-
ด้วยที่อยู่อาศัยหนองผือนาในนั้นมีจำกัด กุฏิที่วัดไม่เพียงพอกับพระเณร
นั้นหนอจึงต้องขออภัย      พระเณรจึงได้ถอยมา      แต่ยังศรัทธาท่วมท้น
ต่างองค์มิยอมย่อย่น         เวียนวนไม่ห่างไกล
วันอุโบสถเมื่อใด               รีบไปฟังธรรมท่านทันที               ท่านเมตตาอนุเคราะห์เต็มที่
ติดขัดช่วยชี้ให้รู้วิธีทางไป
-ดนตรี-
ตลอดญาติโยมทั้งชายหญิง ไม่ทอดทิ้งนิ่งดูดาย
ไม่ทอดอาลัยคอยให้คำสอน ทุกขั้นตอนตามภูมิตลอดมา
ทั้งปวงทวยเทพเทวา สงเคราะห์เรื่อยมาเมตตาไม่หน่าย
แต่เทพเทวา วัดหนองผือนาใน มีไม่มากมายเหมือนเชียงใหม่เมืองเหนือ
ท่านอยู่ที่ไหนได้ช่วยเหลือ คอยจุนเจือเนื้อธรรมนำช่วยชี้
ด้วยเมตตาเต็มปรี่ พระเณรเถรชี  มากมีทั้งปวงชน
-ดนตรี-

                           -พูด-  บรรยาย ประวัติหลวงปู่มั่น ตอนที่ ๓๒
    ที่หนองผือมีพระมาจำพรรษากับท่านราว ๒๐-๓๐ องค์ ซึ่งรับมากกว่านั้นไม่ได้เพราะที่พักไม่เพียงพอ  เหลือนอกจากนั้นก็แยกย้ายกันไปอยู่ไกลออกไป ๖-๗ ก.ม.บ้าง ๘-๙ ก.ม.บ้าง ๑๕–๒๐ ก.ม.บ้าง  ถึงวันประชุมอุโบสถต่างก็มารวมกันไม่ต่ำกว่า ๕๐-๖๐ องค์  หากนอกพรรษายังมีมากกว่านี้อีกในบางครั้ง
    เวลาท่านเทศน์อบรม ท่านเทศน์แบบเด็ดๆ เผ็ดๆ ร้อนๆ ปลุกใจพระให้เด็ดเดี่ยวอาจหาญ
อ.มั่น: ในการปฏิบัติธรรม ยากก็ทน ลำบากก็ทำ ทุกข์ก็ต้องต่อสู้ เพื่อกอบกู้หน้า บูชาพระศาสดา 
กู้พระศาสนา กู้เพศแห่งสมณะ กู้ผ้าเหลือง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของผู้ชนะมาร มีป่าช้าอยู่กับตัวกลัว
อะไร  สิ้นลมที่ไหนก็ปล่อยร่างวางไว้ที่นั่น  อย่าอาลัยเสียดายชีวิตยิ่งไปกว่าธรรม
    ผู้เคยกลัวผีมาดั้งเดิม ท่านให้ไปอยู่ป่าช้า ผู้กลัวสัตว์ร้ายนานามีเสือช้างเป็นต้น  ท่านให้ไปอยู่ป่าเปลี่ยว  ใกล้ถ้ำเสือที่เคยเดินหากินผ่านไปผ่านมา  นำความกลัวนั้นมาพิจารณาให้เป็นธรรม  จนกว่าความกลัวจะหายกลายเป็นความกล้าหาญ  ผู้เห็นแก่ปากแก่ท้องก็ให้ลดหย่อนผ่อนอาหารเพื่อทรมานกิเลส
อ.มั่น: เราเป็นนักรบในวงปฏิบัติ  หากมัวแต่หดหัวกลัวทุกข์ไม่บุกทำลายรังกิเลสให้เด็ดขาด  มัวขลาดมัว
เขลาเบาปัญญาไม่กล้าเข้าเผาทลายกิเลสด้วยการปฏิบัติธรรมอันเลิศล้ำและยอดยิ่ง  แล้วจะรู้-จะ
ได้ความจริงมาจากไหน  แม้พระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม  กว่าจะได้บรรลุธรรมก็ทรงพยายามฟัน
ฝ่ากล้าต่อสู้ หากยังมิได้ตรัสรู้ธรรมนำเฉลย  ก็อย่าหวังว่าจะถอยหนีให้กิเลสน้อยใหญ่ย่ำยีเยาะเย้ย
เหยียบย่ำทำลายลง
    ปรากฏว่าพระทุกองค์ที่ท่านบอกให้ออกไปปฏิบัติ  ต่างได้ธรรมมาเป็นเครื่องประดับใจและไม่มีองค์ใดได้รับอันตรายจากสัตว์เสือแม้แต่องค์เดียว
    อำนาจแห่งธรรมที่ท่านแสดงออกแต่ละครั้ง ในความรู้สึกของผู้ฟังทั่วๆ ไป ประหนึ่งโลกธาตุดับสนิท  เหมือนกิเลสทุกชนิดได้ดับหายไปจากใจพระธุดงค์  บางครั้งกำลังเกิดความสงสัยวุ่นวายอยู่กับจุดใดจุดหนึ่งซึ่งสลับซับซ้อนเหลือที่จะแก้ให้ตกไปได้โดยลำพังสติปัญญาของตัวเอง  พอท่านอธิบายไปถึงจุดนั้นๆ  ปรากฏเหมือนท่านเข้าไปทำลายความสงสัยของตน  และผ่านไปได้ในขณะนั้นอย่างทะลุปรุโปร่ง  แบบไม่มีที่ขัดข้องต้องติใดๆ เลย  ปรากฏเป็นความซาบซึ้งใจและอัศจรรย์อย่างบอกไม่ถูก
 


Copyright © 2002 - 2003 วัดป่าบ้านตาด ต. บ้านตาด อ. เมือง จ. อุดรธานี 41000
All Rights Reserved.