Find in Page
Print
Print
Close
Close
:: บทเพลงประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต :: เพลงที่ 30 เจ้าคุณธรรมเจดีย์นิมนต์กลับสู่อิสาน

                          ประวัติหลวงปู่มั่น ตอนที่ ๓๐ 
ทำนอง : ทองกวาว

    อยู่ทางภาคเหนือนานเหลือเขตของเชียงใหม่ ข้ามไปถึงเชียงรายอยู่มาหลายนานปี
อยู่ถ้ำอยู่เขาลำเนาเงื้อมผาวารี ป่าดงไม้มากมีสิบเอ็ดปีผ่านมา
แม้นคราใดเจ็บไข้ได้ป่วย แทบมอดม้วยดับดวงชีวา
ต้องใช้ธรรมโอสถรักษา ไล่ทุกขเวทนา  จนกว่าจะหายไป
-ดนตรี-  รับสั้นๆ
ก่อนได้วิมุตติหลุดพ้นต้องทนฟันฝ่า สลบสามครั้งสามครา กว่าจะคว้าธงชัย
ความเพียรไม่ถอย  ศรัทธาไม่ลอยลับไป สติปัญญาไม่คลายแม้ตายไม่นึกกังวล
จึงได้ธรรมที่งามล้ำค่า ตามรอยพระศาสดาก้าวพาหลุดพ้น
เป็นปุญญักเขตตังโลกัสสะเลิศล้น ของปวงเทพและปวงชนล้นเกินกว่ากล่าววจี
-ดนตรี-  แล้วเปลี่ยนเป็นทำนอง --ลำปางหลวง

    กล่าวถึงท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ลูกศิษย์ปู่มั่นองค์นี้  จากอุดรธานีมุ่งหน้ามานิมนต์
พร้อมคณะศรัทธาหลายคน นั้นมาขอกราบนิมนต์แด่องค์พระอาจารย์มั่น
ให้จากเมืองเหนือลงไปเจือจาน สอนธรรมะพระและชาวบ้านทางอีสานเถิดหนา
เพราะท่านจากมาอยู่เมืองเหนือนี่แสนเนิ่นนาน  -ดนตรี  นิดๆ- ท่านรับคำนิมนต์นั่น  จึงได้จากภาคเหนือ
ทั้งที่อยู่มานานเหลือไปอีสาน นั้นเพื่อเผยแผ่กระแสธรรม
ที่ได้พบดังบุญหนุนนำสูงลอยประเสริฐเลิศล้ำงดงามและแสนอำไพ     อันอัศจรรย์ทุกคืนและวันเย็นใจ
พ้นวัฏวนที่เคยเวียนว่าย หวังสอนศิษย์ได้พบพาน
-ดนตรี- แล้วเปลี่ยนเป็นทำนอง  --น้อยใจยา

     ตกเดือนพฤษภา พ.ศ. สองพันสี่ร้อยแปดสิบสอง ท่านต้องจากไกลจากเหนือเชียงใหม่ไปสู่อีสาน
ที่จากมานานสิบปีพ้นผ่านที่ท่านจากมา ครั้นพอถึงวันที่ท่านอำลา
ฝูงชนศรัทธา  พระเณรต่างมาตามส่งมากมาย ที่สถานีเชียงใหม่ด้วยความเคารพเลื่อมใสพร้อมดวงใจที่ศรัทธา    -ดนตรี   นิดหน่อย-
เหาะลอยตามมาคือเทวดาตามส่งล้นหลาม เหาะลอยติดตามหน้าหลังทั่วไปทั้งซ้ายและขวา
เพื่อรอเวลาขอพรเมตตาเป็นวันสุดท้าย ก่อนที่ท่านจะจรจากไปจนรถไฟเคลื่อนขบวน
เหาะตามเป็นพรวนด้วยความอาลัย จวบจนจะพ้นเชียงใหม่ ก็ยังลอยคอยติดตาม
-ดนตรี-  แล้วเปลี่ยนเป็นทำนอง  --ทองกวาว

    จนท่านกำหนดจิตบอกเทวดาทุกทิศและอวยพรต่างถ้อยคำ ให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกรูปนาม
มิต้องติดตามมาส่งจงรีบกลับอย่าช้าไย หมู่เทพเทวดาอาลัย  ต้องจำใจครวญคร่ำอำลา
-ดนตรี-

                             -พูด-  บรรยาย ประวัติหลวงปู่มั่น ตอนที่ ๓๐
     จากเชียงใหม่จะกลับเข้ากรุงเทพฯ ในเวลานั้น มีพระผู้ใหญ่ตลอดศรัทธาญาติโยมตามมาส่งท่านมากมาย ส่วนบนอากาศทั้งข้างหน้าข้างหลังข้างซ้ายข้างขวาเต็มไปด้วยเทวดาที่เหาะลอยตามส่งท่าน และยับยั้งอยู่บนอากาศเพื่อรอรับพรจากท่านเป็นวาระสุดท้าย พอปฏิสันถารกับประชาชนเสร็จ และรถไฟเริ่มเคลื่อนออกจากสถานีแล้ว ท่านจึงได้ปฏิสันถารและอวยพรให้แก่เทวดาทั้งหลาย  ท่านว่าน่าสงสารเทวดาบางรายที่เกิดความเลื่อมใสในท่านมาก ไม่อยากให้ท่านจากไป แสดงความกระวนกระวายระส่ำระสาย และเสียอกเสียใจเช่นเดียวกับมนุษย์เราดีๆ นี่เอง
     เทวดาบางพวกอุตส่าห์เหาะลอยตามส่งท่านไปไกลตามขบวนรถไฟที่กำลังวิ่งตามรางไปอย่างเต็มที่ จนท่านต้องกำหนดจิตบอกให้พากันกลับไปถิ่นฐานของตน จึงให้พากันกลับด้วยความอาลัยอาวรณ์อย่างไม่มีจุดหมาย ว่าท่านจะได้กลับมาเมตตาโปรดอีกเมื่อใด สุดท้ายก็พากันหมดหวังเพราะท่านมิได้กลับไปทางภาคเหนืออีกเลย
พอถึงกรุงเทพฯ ท่านเข้าพักวัดบรมนิวาส  ในระยะที่พักอยู่นั้นมีผู้คนมาถามปัญหากับท่านมาก แต่จะขอนำมากล่าว ณ ที่นี้เพียงรายเดียวและพอเป็นสังเขปเท่านั้น
    คือเขาถามว่า
โยม: ได้ทราบว่าท่านรักษาศีลองค์เดียว มิได้รักษาถึง ๒๒๗ องค์ เหมือนพระทั้งหลายที่รักษากันใช่ไหม?
อ.มั่น: ใช่ อาตมารักษาเพียงอันเดียว
โยม: ที่ท่านว่ารักษาเพียงอันเดียวนั้นคืออะไร
อ.มั่น: คือใจ
โยม: ส่วนศีล ๒๒๗ นั้นท่านไม่ได้รักษาหรือ
อ.มั่น: อาตมารักษาใจไม่ให้คิดพูดทำในทางผิด อันเป็นการล่วงเกินข้อห้ามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ และอาตมาได้รักษาใจอันเป็นประธานของกายวาจาอย่างเข้มงวดกวดขันตลอดมา นับแต่เริ่มอุปสมบท
โยม: การรักษาศีลต้องรักษาใจด้วยหรือ?
อ.มั่น: ถ้าไม่รักษาใจจะรักษาอะไรถึงจะเป็นศีลเป็นธรรมที่ดีงามได้ นอกจากคนที่ตายแล้วเท่านั้นจะไม่ต้องรักษาใจ แม้กายวาจาก็ไม่จำต้องรักษา แต่ความเป็นเช่นนั้นของคนตายนักปราชญ์ท่านไม่ได้เรียกว่าเขามีศีล เพราะไม่มีเจตนาเป็นเครื่องส่อแสดงออก ถ้าเป็นศีลได้ควรเรียกได้เพียงว่าศีลคนตาย ซึ่งไม่สำเร็จประโยชน์ตามคำเรียกแต่อย่างใด ส่วนอาตมามิใช่คนตาย จะรักษาศีลแบบคนตายนั้นไม่ได้ ต้องรักษาใจให้เป็นศีลเป็นธรรมสมกับใจเป็นผู้ทรงไว้ทั้งบุญทั้งบาปอย่างตายตัว
ท่านพักอยู่กรุงเทพฯ พอควรแก่กาลแล้ว  ท่านก็ออกเดินทางไปพักที่โคราช  ตามคำอาราธนาของคณะศรัทธา ชาวนครราชสีมาต่อไป


Copyright © 2002 - 2003 วัดป่าบ้านตาด ต. บ้านตาด อ. เมือง จ. อุดรธานี 41000
All Rights Reserved.