|
![]() |
:: บทเพลงประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต :: เพลงที่ 3 เกิดสมาธินิมิต |
ประวัติหลวงปู่มั่น ตอนที่ ๓ ทำนอง : ไทยเดิม (เขาเมินไม่มอง) พักอบรมภาวนา เรื่อยมาที่วัดเลียบเมืองอุบล เกิดอุคหนิมิตขึ้นมาในกมล ลักษณะที่มาปรากฏให้ได้ยล เป็นร่างคนนอนตายอยู่หลายเวลา จนเน่าพุพองน้ำหนองไหลออกมา มีแร้งกาสุนัขมากัดกิน แย่งกันไม่รู้สิ้นแยกเป็นชิ้นกระจัดกระจาย -ดนตรี- ร่างกายพุพองเน่าเหม็น ทั่วบริเวณได้เห็นยิ่งน่าเบื่อหน่าย สลดสังเวชมองดูหดหู่ไม่รู้คลาย สมาธินิมิตปรากฏที่จิตแพรวพราย ต่อไปเมื่อจิตได้ถอนขึ้นมา ท่านเลยตรองแล้วลองนำไปศึกษา พิจารณาทุกอิริยาบถไป ไม่ว่าอยู่หนใดคอยใส่ใจมิได้สร่างซา -ดนตรี- จนนิมิตแห่งคนตายนั้น กลับกลายพลันเป็นวงแก้วลงตรงหน้า ท่านตามคร่ำเคร่งเพ่งโดยไม่ยอมลดลา วงแก้วผันแปรไม่มีแน่นอนสักครา ตลอดเวลาเป็นรูปร่างต่างๆ กันไป หลามล้นทวีโดยไม่มีจุดหมาย ณ แห่งใดเป็นจุดสิ้นสุดเสียที ล้วนแตกต่างอย่างมากมีภาพนิมิตนี้ไม่มีประมาณ -ดนตรี- -พูด- บรรยาย ประวัติหลวงปู่มั่นตอนที่ ๓ สิ่งที่ท่านได้เห็นเกี่ยวกับนิมิตเป็นเหตุให้รู้สึกว่ามีมากมาย จนไม่อาจจะนำมากล่าวจบสิ้นได้ ท่านพิจารณาในทำนองนี้ถึง ๓ เดือน โดยการเข้าๆ ออกๆ ทางสมาธิภาวนาพิจารณาไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้เห็นสิ่งที่จะมาปรากฏจนไม่มีทางสิ้นสุด แต่ผลดีปรากฏจากการพิจารณาไม่ค่อยมีพอเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องและแน่ใจ เมื่อออกจากสมาธิประเภทนี้แล้ว ขณะกระทบกับอารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ก็เกิดความหวั่นไหว คือทำให้ดีใจ-เสียใจ-รักชอบ และเกลียดชัง ไปตามเรื่องของอารมณ์นั้นๆ หาความเที่ยงตรงคงตัวอยู่มิได้ จึงเป็นเหตุให้ท่านสำนึกในความเพียรและสมาธิที่เคยบำเพ็ญมาว่า คงไม่ใช่ทางแน่ ถ้าใช่ทำไมถึงไม่มีความสงบเย็นใจและดำรงตนอยู่ด้วยความสม่ำเสมอ แต่ทำไมกลับกลายเป็นใจที่วอกแวกคลอนแคลนไปตามอารมณ์ต่างๆ อย่างไม่มีประมาณ ซึ่งไม่ผิดอะไรกับคนที่เขามิได้ฝึกหัดภาวนาเลย ชะรอยจะเป็นความรู้ความเห็นที่ส่งออกนอกซึ่งผิดหลักของการภาวนากระมัง? จึงไม่เกิดผลแก่ใจให้ได้รับความสงบสุขเท่าที่ควร ท่านจึงทำความเข้าใจเสียใหม่โดยย้อนจิตเข้ามาอยู่ในวงแห่งกาย ไม่ส่งใจไปนอกพิจารณาอยู่เฉพาะกาย ตามเบื้องบน เบื้องล่าง ด้านขวาง สถานกลาง โดยรอบ ด้วยความมีสติตามรักษา โดยการเดินจงกรมไป-มามากกว่าอิริยาบถอื่นๆ แม้เวลานั่งสมาธิภาวนาเพื่อพักผ่อนให้หายเมื่อยบ้างเป็นบางกาล ก็ไม่ยอมให้จิตรวมสงบลงดังที่เคยเป็นมา แต่ให้จิตพิจารณาและท่องเที่ยวอยู่ตามร่างกายส่วนต่างๆ เท่านั้น ถึงเวลาพักผ่อนนอนหลับ ก็ให้หลับด้วยการพิจารณากายเป็นอารมณ์ |
![]() |
Copyright All Rights Reserved. |