|
![]() |
:: บทเพลงประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต :: เพลงที่ 2 เกิดสุบินนิมิต |
ประวัติหลวงปู่มั่น ตอนที่ ๒ ทำนอง : ไทยเดิม บวชแล้วแน่แน่วศึกษา วิปัสสนากรรมฐานเพียรเฝ้า ไม่เว้นทั้งเย็นและเช้า สำนักอาจารย์เสาร์ กันตสีโล -ดนตรี- ที่วัดเลียบเมืองอุบล เริ่มต้นอดทนอักโข ไม่ลดละภาวนาพุทโธ น้อมมโนไม่นึกหน่าย เวียนพากเพียรจนได้ ใจนั้นเริ่มมั่นแน่นหนา สติคอยเตือน ไม่ร้างเลือนคำภาวนา -ดนตรี- คืนหนึ่งนั้นหลับไปเพียงนิด เกิดสุบินนิมิตไปว่า จากบ้านด้นดั้นเข้าป่า ใหญ่เหลือคณาขวากหนามมากมาย -ดนตรี- แทบหาทางออกไม่เห็น ท่านเร้นซอกซอนผ่านไป จนหลุดพ้นแนวดงพงไพร พ้นผ่านไปพบทุ่งกว้าง มองไหนดูกระจ่าง เวิ้งว้างกว้างกว่าแห่งใด ท่านลงทุ่ง จิตหมายมุ่งตั้งหน้าฝ่าไป -ดนตรี- เดินไปพบต้นชาติ ต้นไม้ประหลาดต้นใหญ่ เขาตัดล้มลงจมไป จมดินจมทรายอยู่นานปี -ดนตรี- ท่านไต่ขึ้นไปบนขอน ที่ผุพังทั้งเปลือกกะพี้ พิจารณาทันที ไม้นี้เหมือนภพชาติเรา เขาตัดทิ้งล้มจมเน่า รากเหง้าไม่อาจคืนมา เปรียบภพชาติเราดังว่า จะสิ้นสุดหนาถ้าพยายาม -ดนตรี- ทุ่งว่างกว้างล้นเหมือนวัฏวนของมวลสัตว์ เวียนว่ายเกิดตายเกลื่อนกลาดไม่ขาดคอยคลุกทุกรูปนาม -ดนตรี- พิจารณาอยู่นั้นก็พลันมีม้าตัวงาม มาแต่ยามใดไม่รู้ ท่านขี่หลังมัน ม้าก็พลันวิ่งไปน่าดู -ดนตรี- อาชาพาวิ่งเร็วไวในทุ่งกว้างไกลโพ้นสุดกู่ ห่างหายจากเดิมยืนอยู่โดยไม่รู้ว่าทางทิศใด -ดนตรี- ไปพบตู้อยู่หนึ่งใบสดใสสีเงินงามหรู ครุ่นคิดและจ้องมองดู เป็นตู้พระไตรปิฎกงามยิ่ง ม้าพามาหยุดวิ่ง ยืนนิ่งท่านลงทันที จะเปิดตู้นั้นแต่เปิดไม่ทันท่านตื่นพอดี -พูด- บรรยาย ประวัติหลวงปู่มั่นตอนที่ ๒ สุบินนิมิตนั้นเป็นเครื่องแสดงความมั่นใจว่า จะมีความสำเร็จตามใจหวังอย่างแน่นอนไม่เป็นอย่างอื่น ถ้าไม่ลดละความเพียรพยายามเสียเท่านั้น จากนั้นท่านได้ตั้งหน้าประกอบความเพียรอย่างเข้มแข็ง มีบท พุทโธ เป็นคำบริกรรมประจำใจในอิริยาบถต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนธรรมคือธุดงควัตรที่ท่านยึดถือปฏิบัติอย่างยิ่งตลอดมานับแต่เริ่มอุปสมบทจนถึงวันสุดท้ายปลายแดนแห่งชีวิต ได้แก่ - ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ไม่รับคหปติจีวรที่เขาถวายด้วยมือ ๑ - บิณฑบาตเป็นวัตรประจำวันไม่ลดละ เว้นเฉพาะวันที่ไม่ฉันเลยก็ไม่ไป ๑ - ไม่รับอาหารที่ตามส่งทีหลัง คือรับเฉพาะที่ได้มาในบาตร ๑ - ฉันมื้อเดียว คือฉันวันละหน ไม่มีอาหารว่างใดๆ ที่เป็นอามิสเข้ามาปะปนในวันนั้นๆ ๑ - ฉันในบาตรเป็นวัตร คือมีภาชนะใบเดียวเป็นวัตร ๑ - อยู่ในป่าเป็นวัตร คือเที่ยวอยู่ตามร่มไม้บ้าง ชายเขาบ้าง หุบเขาบ้าง ในถ้ำ ในเงื้อมผาบ้าง ๑ - ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือมีผ้า ๓ ผืน ได้แก่สังฆาฏิ-จีวร-สบง เว้นผ้าอาบน้ำฝนซึ่งจำเป็นต้องมีในสมัยนี้ ๑ ธุดงค์นอกจาก ๗ ข้อที่กล่าวนี้ท่านก็สมาทานและปฏิบัติเป็นบางสมัย แต่ทั้ง ๗ ข้อนี้ท่านยึดถือปฏิบัติเป็นประจำ จนกลายเป็นนิสัย ซึ่งจะหาผู้ใดเสมอได้ยากยิ่งในสมัยปัจจุบัน |
![]() |
Copyright All Rights Reserved. |