ไม่มีใครเสมอครูคือศาสดาองค์เอก
วันที่ 16 มกราคม 2546 เวลา 14:00 น.
สถานที่ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ นครนายก
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส

ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตองครักษ์ จ.นครนายก

เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๖

ไม่มีใครเสมอครูคือศาสดาองค์เอก

วันนี้เป็นวันมหามงคลแก่พี่น้องลูกหลานชาวจังหวัดนครนายกเรา โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก คือคุณเชิดวิทย์ ฤทธิ์ประสาท และอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คือดร.สุมณฑา พรหมบุญ มาเป็นประธาน มาเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่พี่น้องทั้งหลายในงานนี้ หลวงตารู้สึกมีความซาบซึ้งกับบรรดาพี่น้องลูกหลานทั้งหลายเป็นอย่างมาก เพราะดูประชาชนทั้งหลายที่เข้ามาในงานนี้ รู้สึกว่าหนาหน้าหนาตา มีมาก ตามธรรมดาไปเทศนาว่าการที่ไหน ประชาชนมีมากๆ กันทั้งนั้น แต่ที่นี่รู้สึกจะมากเป็นพิเศษขึ้นมาอีก จึงขอขอบคุณและซาบซึ้งในเจตนาที่เป็นกุศลของพี่น้องทั้งหลายเป็นอย่างมากในวันนี้

         วันนี้เป็นวันที่เราทั้งหลายถือเป็นมหามงคล พร้อมเป็นวันของผู้ใหญ่ เป็นวันพ่อวันแม่ วันครูวันอาจารย์ของเรา ซึ่งเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร และให้คติอันดีงามแก่พวกเรา ซึ่งเป็นลูกเป็นหลาน เป็นลูกศิษย์ลูกหาเป็นไหนๆ ด้วยเหตุนั้นวันนี้จึงเป็นวันมหามงคลแก่บรรดาพี่น้องทั้งหลาย เช่นเด็กก็มีพี่เลี้ยง ส่งเข้าโรงเรียนก็มีครูมีอาจารย์เป็นผู้แนะนำสั่งสอน อยู่ในบ้านก็มีพ่อมีแม่เป็นผู้ควบคุมแนะนำสั่งสอน บอกในแง่ต่างๆ ที่เป็นความผิดและความถูกตลอดมาจากผู้ใหญ่

เช่นวันนี้เป็นวันครู คำว่าครูนี้ก็คือว่า เป็นผู้แนะนำสั่งสอนทุกสิ่งทุกอย่าง แก่ผู้เข้ามาเกี่ยวข้องอบรมหรือศึกษาด้วย ท่านเรียกว่าวันครู คือวันของอาจารย์ อาจาระ แปลว่า ผู้ฝึกฝนอบรมแนะนำสั่งสอนในกิจการต่างๆ ให้ผู้น้อยที่มาศึกษาอบรมได้เข้าอกเข้าใจ แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตัว จึงเป็นของสำคัญสำหรับหัวหน้า

         เริ่มต้นมาตั้งแต่เราเป็นชาวพุทธ เราถือพระพุทธเจ้าเพราะเหตุผลกลไกอะไร ถือพระธรรม ถือพระสงฆ์ เพราะเหตุผลกลไกอะไร นี่ก็เรียกว่าเราถือครูเอก ไม่มีใครเสมอครูคือศาสดาองค์เอก และพระธรรมพระสงฆ์นี้ไปได้เลย เราจึงได้กล่าวหรือระลึกถึงท่าน กราบไหว้บูชาเป็นขวัญใจอยู่ทุกวี่ทุกวันตลอดมาว่าพุทฺธํ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ นี่แหละคือครูเอกของพวกเรา ศาสนาเป็นมาจากธรรมที่เลิศเลอ ธรรมที่เลิศเลอนั้นได้ปรากฏขึ้นมาสู่โลกสู่สงสาร จากพระพุทธเจ้าผู้คุ้ยเขี่ยขุดค้นแทบเป็นแทบตาย ถึงขั้นสลบไสลไปมีหลายหน

         ตามตำรับตำราท่านแสดงไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงสลบถึง ๓ หน เพราะฝึกหัดตัวเองเพื่อเป็นครูเอกคือเป็นศาสดาของโลก จนกระทั่งได้รับผลกระทบกระเทือนจากการฝึกทรมานนั้น ถึงสลบ ๓ หน นอกจากนั้นความลำบากลำบนแห่งศาสดาของเรา ควรที่จะเอาเป็นคติตัวอย่างได้เป็นอย่างดีมากทีเดียว เพราะความเป็นศาสดามาจากพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นใหญ่ในแว่นแคว้น แล้วเสด็จออกทรงผนวชฝึกหัดดัดแปลงทรมานพระองค์ตลอด ได้รับความทุกข์ความลำบากยากเย็นเข็ญใจ มาตลอดจนกระทั่งถึง ๖ ปี จึงได้ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สมความมุ่งมาดเป็นศาสดาของโลกอย่างลือนาม

จากนั้นธรรมที่ทรงขุดค้นพบก็คือธรรมชั้นเอก นำธรรมชั้นเอกที่เลิศเลอนี้มาสั่งสอนบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ผู้รับธรรมในเบื้องต้นนั้นก็คือสาวกของพระพุทธเจ้า ในสมัยปัจจุบันศาสนาของพระพุทธเจ้าทุกวันนี้ก็คือเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ๕ องค์นี้ เป็นผู้รับถ่ายทอดธรรมจากพระพุทธเจ้ามา จนกลายเป็นอรหัตบุคคล เป็นผู้วิเศษวิโส กลายเป็นสรณะของโลกองค์ที่ ๓ คือ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ให้โลกได้กราบไหว้บูชาเป็นขวัญตาขวัญใจ ท่านเหล่านี้ท่านทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นประโยชน์ เป็นคติเครื่องเตือนพระองค์ ในความผิดถูกดีชั่วต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง เรียกว่าฝึกหัดพระองค์ เอาแนวความถูกต้องเป็นครูเป็นอาจารย์ ดัดแปลงแก้ไขไปตาม

เฉพาะสำหรับพระพุทธเจ้านั้นรู้สึกว่าจะลำบากกว่าบรรดาสาวกทั้งหลาย เพราะเป็นการเริ่มต้นบุกเบิกทางเดิน เพื่อธรรมจะได้โผล่ขึ้นมาให้โลกทั้งหลายกราบไหว้บูชา และพระองค์ก็ไม่ทรงเคยพบเคยเห็นในธรรมประเภทนี้ ทั้งการฝึกฝนอบรมคุ้ยเขี่ยขุดค้นธรรมทั้งหลายพระองค์ก็ไม่เคยมา จึงต้องตะเกียกตะกายผิดบ้างถูกบ้างเป็นธรรมดา แต่สุดท้ายก็ถูกทางได้ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ด้วยการบำเพ็ญอานาปานสติ  คือ กำหนดลมหายใจเข้าออก สติเป็นสำคัญ ลมหายใจเข้าก็ให้รู้ว่าลมเข้า ลมออกให้รู้ว่าลมออก มีสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจ อย่างนั้นต่อเนื่องกันเป็นลำดับ

จนได้ปรากฏผลขึ้นมาในเบื้องต้นว่า ปฐมยามทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติย้อนหลังได้กี่ภพกี่ชาติของพระองค์เอง ได้เกิดได้ตายท่องเที่ยวในวัฏสงสาร ทั้งภพน้อยภพใหญ่ทั้งสูงทั้งต่ำ  คือขึ้นถึงขั้นพรหมโลกก็ถึง ลงจนถึงนรกอเวจีก็ลง เป็นอย่างนี้เหมือนสัตว์ทั้งหลายทั่วๆ ไปนั้นแล เมื่อพระองค์บำเพ็ญสมณธรรมคือ อานาปานสติถูกทางแล้วได้บรรลุธรรมนี้ขึ้นมา

ทรงพิจารณารู้เรื่องปุพเพนิวาสชาติหนหลังของพระองค์ได้ไม่มีประมาณ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การไปตกนรกหมกไหม้หรือขึ้นสวรรค์ชั้นพรหม เพราะความชั่วความดีของพระองค์เอง ซึ่งเป็นเหมือนสามัญชนทั่วๆ ไป ทำด้วยความอยากความทะเยอทะยาน ผิดบ้างถูกบ้าง พระองค์จึงได้ผลแห่งความดีความชั่วนั้นติดภพติดชาติมาตลอด จนกระทั่งถึงคืนวันเดือนหกเพ็ญ ในปฐมยามทรงบรรลุย้อนหลัง เห็นร่องรอยแห่งความเป็นมาของพระองค์เอง คือไปเกิดในภพใดชาติใด เป็นสัตว์ประเภทไหนๆ พรรณนาไม่ได้เพราะมากต่อมาก เนื่องจากเกิดแล้วเกิดเล่า ตายแล้วตายเล่า ไม่มีหยุดมีถอย เนื่องจากกิเลสซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจนั้นปิดบังหัวใจ แล้วก็จูงสัตว์ทั้งหลายให้ทำตามความมืดบอดของตน จึงมีผิดมีพลาดมากกว่าถูก ด้วยเหตุนี้จึงได้รับความทุกข์ความทรมานในภพชาตินั้นๆ ตลอดมา

จนกระทั่งถึงคืนวันเดือนหกเพ็ญ เมื่อได้ผลจากการบำเพ็ญอานาปานสติในปฐมยามนั้นแล้ว ก็ทรงทราบย้อนหลังถึงความเป็นมาของพระองค์ ว่าเคยเกิดเคยตายในภพในชาติเป็นสัตว์เป็นเปรตเป็นผี หรือเป็นสัตว์นรก ตลอดถึงเทวบุตรเทวดาอินทร์พรหมประเภทใด พระองค์เคยเป็นมาหมด แล้วนับย้อนหลังได้หมด ตามร่องรอยแห่งความเป็นมาของพระพุทธเจ้า นี่พระองค์ก็ทรงทราบได้อย่างชัดเจน เป็นผลประจักษ์ในคืนวันนั้น

พอมัชฌิมยามนั้นก็บรรลุจุตูปปาตญาณ ทรงพิจารณาเรื่องความเกิดความตายของสัตว์โลกทั่วๆ ไปไม่มีประมาณ ก็ทรงทราบตลอดทั่วถึง เช่นเดียวกับพิจารณาความเป็นมาของพระองค์ จนถึงกับท้อพระทัย ในการที่เกิดตายแบกหามทุกข์ตลอดมา ไม่มีสถานที่ใดที่จะปลงวางแห่งความทุกข์ เมื่อมีความเกิดผิดๆ พลาดๆ อยู่อย่างนี้แล้ว พระองค์จึงทรงย้อนพระทัยเข้ามาสู่ต้นเหตุอันใหญ่หลวง คือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้น อวิชชาคือความมืดบอดปิดในหัวใจของสัตว์ สังขารก็ผลักดันให้คิดให้ปรุงในเรื่องในราวต่างๆ ซึ่งเป็นทางเดินของกิเลสอวิชชานั้นไปเรื่อยๆ จึงพาสัตว์ให้เกิดให้ตายเรื่อยๆ

พระองค์ทรงพิจารณาย้อนหน้าย้อนหลัง ถึงต้นเหตุแห่งพาสัตว์ให้เกิดตายคืออะไร ก็มาได้ความที่ อวิชฺชาปจฺจยา ทรงพิจารณาลงที่จุดนั้น เข้าสู่ต้นตอแห่งภพแห่งชาติ แห่งความทุกข์ความทรมานทั้งหลาย ได้ทราบอย่างประจักษ์พระทัย แล้วถอนขึ้นมาบรรดาอวิชชาที่ครอบงำในพระทัยของพระพุทธเจ้า ได้ถูกถอดถอนขึ้นมาโดยสิ้นเชิง เรียกว่าตรัสรู้ขึ้นมาในขณะนั้น ตัดภพตัดชาติความเกิดแก่เจ็บตายที่เป็นมาแล้วก็จะนับจำนวนไม่ได้ ที่จะเป็นต่อไปนั้นก็เป็นอันว่าสุดสิ้นลงแล้ว ในขณะที่อวิชชาตัวพาให้เกิดให้ตาย ได้ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา

นี่คือพระพุทธเจ้าทรงฝึกฝนอบรมพระองค์ คอยสังเกตสังกาการประพฤติปฏิบัติของพระองค์ เพราะไม่มีครูใดอาจารย์ใดจะมาสอนได้ เป็นลำพังของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะพระวิสัยของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์นั้น เวลาตรัสรู้ จะตรัสรู้โดยลำพังพระองค์เองทุกๆ พระองค์ ไม่มีใครแนะนำสั่งสอนเลย จึงเป็นการยากการลำบาก นี่ละการฝึกฝนอบรมพระองค์จนได้เป็นศาสดาขึ้นมาแล้ว ก็ประกาศธรรมที่เป็นความถูกต้องดีงามทั้งฝ่ายเหตุคือการดำเนิน

การดำเนินมีสองประเภท คือ การทำชั่วกับการทำดี ซึ่งให้ผลไม่เหมือนกัน การทำชั่วให้ผลเป็นทุกข์ การทำดีให้ผลเป็นสุข พระองค์เมื่อได้ธรรมที่เลิศเลอนั้นมาแล้ว ก็ทรงนำมาแสดงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายเรื่อยมา นี่เริ่มเป็นครูของโลกแล้ว เป็นครูของมนุษย์และเทวดาอินทร์พรหมทั้งหลายในสามแดนโลกธาตุนี้ พระองค์เป็นครูสอนทั้งหมด นี่เรียกว่าครู

         วันครูนั้นคือวันวิสาขบูชา ที่เราทั้งหลายได้กราบไหว้ระลึกถึงท่านเป็นพิธีการถึงขนาดที่ว่าวงราชการก็หยุดราชการให้ เปิดโอกาสให้ระลึกถึงบุญถึงคุณของศาสดาซึ่งเป็นวันครูอันเลิศเลอ ให้ได้กราบไหว้บูชาเรื่อยมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ นี่เรียกว่าวันครู วันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น คือเป็นวันครูพระองค์หนึ่ง ครูอันเลิศเลอพระองค์ที่สอง ก็ทรงค้นพบขึ้นมาในขณะตรัสรู้นั่นแหละ นี่ก็เป็นวันครู คือธรรมซึ่งเป็นแนวทางเดินอันเลิศเลอแก่บรรดาสัตว์ทั้งหลาย จะได้เดินตามทางแห่งธรรมที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วโดยถูกต้องที่เรียกว่า สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้วด้วยธรรมที่ชอบ ไม่มีอะไรที่จะต้องติได้แล้ว คือธรรมอันเลิศเลอนั้นแล จากนั้นก็ประกาศธรรมสอนโลกต่อไป

บรรดาผู้ที่จะได้รับธรรมในอันดับแรกก็คือสาวกทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ก็มีเด่นอยู่ที่เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นต้น ได้บรรลุธรรมเป็นองค์แรกในขณะที่พระองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลงแล้ว พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม อายสฺมโต โกณฺฑญฺญสฺส วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขÿ อุทปาทิ ท่านอัญญาโกณฑัญญะผู้มีอายุผู้เจริญ ได้ดวงตาเห็นธรรมที่ประเสริฐเลิศเลอปราศจากมลทินขึ้นมาแล้ว ในขณะที่ฟังธรรม ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรของพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงประทานพร