เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๗
ยกเลิกให้หมดมหาภัยต่อพุทธศาสนา
ผู้กำกับอ่าน หนังสือชี้แจงของคณะสงฆ์ไทยดังนี้
หนังสือชี้แจงของคณะสงฆ์ไทย
ในการชี้แจงของคณะสงฆ์ไทย วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ สวนแสงธรรม ถนนพุทธมณฑลสาย ๓ กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวแทนคณะสงฆ์ฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีจากจตุรทิศ ทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต จำนวน ๑๕๙ รูป ได้ประชุมร่วมกันเพื่อทำหนังสือชี้แจงประเด็นปัญหาข้อสงสัยแก่พุทธบริษัทและสื่อมวลชน อันเนื่องมาจากประกาศแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชของนายวิษณุ เครืองาม เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗
การชี้แจงในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้
๑. เพื่อระงับความสับสนและให้เกิดความชัดเจนแก่หมู่พุทธบริษัท ๔ เกี่ยวกับพระธรรมวินัย
๒. เพื่อรักษาพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ รักษาพระเกียรติของสมเด็จพระสังฆราช และปกปักรักษาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งเปรียบประดุจ พ่อแม่ครูอาจารย์
๓. เพื่อแสดงจุดยืนและยังความเข้าใจแก่หมู่พุทธบริษัท ๔ ต่อการประชุมคณะสงฆ์ไทย ณ วัด อโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗
สำหรับการชี้แจงต่อพุทธบริษัท ๔ และสื่อมวลชนนั้น คณะสงฆ์ไทยยึดพระธรรมวินัย จารีตประเพณี และกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ได้ข้อสรุปดังนี้
๑. กรณีที่พระธรรมโกษาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี กล่าววิพากษ์วิจารณ์พระผู้บำเพ็ญสมณธรรมตามป่าเขาหรือ พระกรรมฐาน ว่าเป็นผู้มี สติไม่สมประกอบ (abnormal) คณะสงฆ์ไทยขอชี้แจงว่า
พระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุ โดยทรงบำเพ็ญสมณธรรมในป่าเขาอันสงบสงัด มีจุดหมายเพื่อความสิ้นอาสวะกิเลส ทรงตรัสรู้ธรรมในป่า ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญพระผู้บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าแก่พระนาคิตะว่า นาคิตะ เราสรรเสริญการอยู่ป่าเป็นวัตรของภิกษุ
ในการอุปสมบทพระภิกษุไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคามวาสีหรืออรัญวาสี ตามพุทธบัญญัติแล้วพระอุปัชฌาย์จะต้องสอนมูลกรรมฐาน สอนนิสสัย ๔ ฯลฯ แก่พระภิกษุทุกรูปนับแต่วินาทีที่อุปสมบท พระอุปัชฌาย์จะละเว้นมิได้ การสอนมูลกรรมฐาน ได้แก่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ฯลฯ หมายถึงการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ เป็นต้น และสอนนิสสัย ๔ แก่ภิกษุผู้อุปสมบท พึงถือผ้าไตรจีวร ถือบิณฑบาต อยู่รุกขมูลร่มไม้ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า จงทำความอุตส่าห์พยายามบำเพ็ญอย่างนี้ตลอดชีวิตเถิด ดังความตอนหนึ่งปรากฏในพระไตรปิฎก เล่ม ๔ พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ ว่า ;
รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย
เมื่อเธอบรรพชาอุปสมบทแล้ว ให้ท่านทั้งหลายอาศัยอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ในป่าในเขา ตามถ้ำ เงื้อมผา หรือป่าช้าป่ารกชัฏ เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมได้สะดวกสบาย จงทำความอุตส่าห์พยายามบำเพ็ญอย่างนี้ตลอดชีวิตเถิด
ดังนั้น พระกรรมฐานที่บำเพ็ญสมณธรรมในป่าเขา เจริญอริยมรรค ๘ มี สัมมาสติ เป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่ง จึงเป็นการปฏิบัติตรงตามพระพุทธโอวาท การที่ท่านปัญญานันทภิกขุกล่าวติเตียนพระป่าว่า มีสติไม่สมประกอบ จึงเท่ากับติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ การกระทำเช่นนี้ไม่สมกับความเป็นพระเถระ
๒. การวิพากษ์วิจารณ์สมณศักดิ์ของหลวงตามหาบัว
๒.๑ สมณศักดิ์ของหลวงตามหาบัวฯ คือ พระธรรมวิสุทธิมงคล นั้นพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง การที่ท่านปัญญานันทะกล่าววิพากษ์วิจารณ์ประชดประชันสมณศักดิ์ของหลวงตามหาบัวฯ เท่ากับเป็นการก้าวล่วงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย เป็นการพูดเสียดแทงเพื่อนบรรพชิต ถือเป็นความผิดเข้าข่ายหมิ่นประมาท ในทางธรรมปรับอาบัติปาจิตตีย์สิกขาบทที่ ๒ และ ๖๔ ไม่ใช่วิสัยของสมณะจะพึงกระทำ
๒. |