“มหาสมัยในปัจจุบัน”
วันที่ 22 มกราคม 2546 เวลา 15:01 น. ความยาว 86 นาที
สถานที่ : `วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ

เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ [บ่าย]

“มหาสมัยในปัจจุบัน”

            วันนี้เป็นวันมหามงคลอันยิ่งใหญ่แก่พี่น้องชาวพุทธเรา ซึ่งสมบูรณ์ด้วยพระและประชาชนศรัทธาทั้งหลาย มารวมกันเป็นมหาสมัยครั้งหนึ่งในปัจจุบันนี้ เพราะพระที่จะมีจำนวนมากขนาดนี้มาปรากฏรวมกันด้วยความพออกพอใจ ใคร่ต่อหลักธรรมหลักวินัย คือศาสนาและชาติบ้านเมือง เกี่ยวกับเรื่องพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมาจากที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยได้เข้ามารวมกัน ทั้งประชาชนก็จำนวนมากมาย ในวันนี้จึงจัดเป็นวันมหามงคลแก่เราทั้งหลาย และพร้อมกับการได้เห็นได้ยินได้ฟัง

พระเจ้าพระสงฆ์ส่วนมากที่มาที่นี่มักจะอยู่ในป่าในเขาบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อขวนขวายหาอรรถหาธรรมในสถานที่ต่างๆ กัน ส่วนมากเป็นป่าเป็นเขา แล้วท่านก็ได้อุตส่าห์ออกมาสู่สถานที่นี่ ซึ่งเป็นจุดใหญ่ คือวัดอโศการาม เป็นศูนย์กลางแห่งพระปฏิบัติทั้งหลายรวมอยู่ที่นี่ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ท่านพ่อลี ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เคร่งครัดในหลักธรรมวินัย มีความสัตย์ความจริงเต็มองค์ท่าน ท่านก็เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมาตลอด แล้วมาสร้างวัดอโศการามขึ้นมา

จนกระทั่งปรากฏเวลานี้วัดอโศการามเรา กลายเป็นศูนย์กลางแห่งพระปฏิบัติทั้งหลายมารวมกันอยู่ที่นี่ การที่เราทั้งหลายจะได้พบได้เห็นพระเจ้าพระสงฆ์ ซึ่งมุ่งหน้าปฏิบัติศีลธรรมมาโดยลำดับ แล้วมาปรากฏองค์ท่านในสถานที่นี่ จึงเป็นบุญกุศลอันล้นพ้นของพี่น้องทั้งหลายตามธรรมท่านแสดงไว้ว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ การเห็นสมณะ คือผู้สงบกาย วาจา ใจ จากบาปจากกรรมทั้งหลายนั้นเป็นมหามงคลอย่างยิ่ง นี่ประการหนึ่ง ประการที่สอง  สมณานุตตริยะ คือการเห็นสมณะผู้สงบกาย วาจา ใจจากบาปนั้นเป็นการเห็นอันสูงสุด

นี่พี่น้องทั้งหลายทั้งทางใกล้ทางไกลก็ได้อุตส่าห์พยายาม ได้มาพบมาเห็นแล้ววันนี้ จำนวนพระเป็นพันๆ หมื่นๆ เราก็ได้เห็นในวันนี้แล้ว นี่เป็นมงคลอันสูงสุดสำหรับท่านผู้เห็นสมณะ  คำว่า “สมณะ” นั้น ท่านแสดงท่านแยกออกเป็น ๔ ประเภทด้วยกัน สมณะที่หนึ่งได้แก่ พระโสดา คือพระอริยบุคคลนั้นแล สมณะที่สองได้แก่ พระสกิทาคา สมณะที่สาม ได้แก่ พระอนาคา สมณะที่สี่ได้แก่ พระอรหัตบุคคล  ทั้งสี่ประเภทนี้ท่านเรียกรวมลงในมงคลสูตรนั้นว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ คือเห็นสมณะเหล่านี้เป็นมงคลอันสูงสุด

แล้วสมณะทั้งสี่ประเภทนั้น ในครั้งพุทธกาลเคยมีอยู่ฉันใด ในครั้งนี้ก็ย่อมมีอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน นอกจากจะมีมากน้อยต่างกันเพียงเท่านั้น จะปฏิเสธว่าสมณะเหล่านี้ไม่มีนั้นไม่ได้ นอกจากคนตาบอดหูหนวก ไม่สนใจในอรรถธรรมบุญบาปประการใดเลย มีแต่การลบล้างความดีงามหรือสิ่งดีงาม ที่ท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทรงไว้ ให้สูญให้อันตรธานไปด้วยปากสกปรกของตนเท่านั้น

หลักความจริงไม่มีใครเกินศาสดา คือพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมอันเลิศเลอ เป็นศาสดาของโลกทั้งสามได้ ก็คือพระพุทธเจ้าได้เท่านั้น ท่านตรัสรู้ธรรม ธรรมที่เลิศเลอในเบื้องต้นก็ไม่มีใครค้นพบ มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นทรงค้นพบ แล้วนำมาชี้แจงแก่บรรดาสัตว์ทั้งหลาย มีภิกษุบริษัทเป็นต้น ด้วยสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว นี่คือศาสดาองค์เอก ธรรมก็เป็นธรรมชั้นเอก แนะนำสั่งสอนด้วยธรรมชั้นเอกนั้นให้ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญได้ความรู้ความเห็น ได้คติเครื่องเตือนใจ จนสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ตั้งแต่สมณะที่หนึ่ง ถึงสมณะที่สี่ คืออรหัตบุคคล สมณะทั้งสี่ประเภทนี้ไม่ได้สูญสิ้นไปจากพุทธศาสนาของเราทั้งหลายที่เทิดทูนอยู่เวลานี้

อกาลิโก การปฏิบัติบำเพ็ญของผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรมทั้งหลายยังมีอยู่ มรรคผลนิพพาน หรืออริยบุคคลทั้งสี่ประเภท หรือสมณะสี่ประเภทนี้ย่อมเป็นเงาเทียมตัว ต้องได้รับมรรครับผลเป็นลำดับลำดามา จึงสมชื่อสมนามว่าศาสดาองค์เอก ไม่ใช่ศาสดาหลอกลวงโลกลวงสงสาร มรรคผลนิพพานกล่าวถึงแต่หาความจริงไม่ได้ อย่างนี้ไม่มีในศาสดาของพวกเราทั้งหลาย เป็นศาสดาองค์เอก ธรรมอันเอก ผู้ปฏิบัติธรรมตามศาสนธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วนั้น ย่อมมีสิทธิ์ที่จะบรรลุธรรมไปได้ตั้งแต่กัลยาณปุถุชน จนถึงอริยบุคคลขั้นอรหัตบุคคลเป็นขั้นสุดยอดแห่งธรรม นี่เป็นผลจะพึงได้จากพุทธศาสนาของเรา

เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ทรงมรรคทรงผลตลอดมา นับแต่ครั้งพุทธกาลมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และยังจะทรงมรรคทรงผลแก่ผู้ปฏิบัติตลอดไป สมนามในพระธรรมว่าอกาลิโก ไม่มีกาลสถานที่เวล่ำเวลาใดที่จะมาเป็นอุปสรรคกีดขวาง หรือลบล้างได้เลย เมื่อมีผู้ปฏิบัติตามศาสนธรรมอยู่ มรรคผลนิพพาน ต้องเป็นเงาเทียมตัวของการปฏิบัติแห่งรายนั้น ๆ จะพึงเป็นผู้ได้รับสมบัติ คือธรรมสมบัตินี้เข้าครองใจโดยลำดับลำดามา ด้วยเหตุนี้ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า จึงเป็นศาสนธรรมที่ประกาศท้าทายต่อความจริงทั้งหลายตลอดมา

ท่านทั้งหลายที่เป็นพระจำนวนมากมาย อุตส่าห์ปฏิบัติตามอรรถธรรมทั้งหลาย ก็พึงสำรวมระวังกาย วาจา ใจของตน ตามแนวทางแห่งศาสดาที่ทรงประกาศธรรมไว้เรียบร้อยแล้ว คือภาคปฏิบัติ เริ่มต้นตั้งแต่เราบวช บวชมามีศีลด้วยกัน สมาทานศีลจากอุปัชฌาย์มาโดยเรียบร้อย เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์แล้วขณะที่ได้ประกาศตนเป็นผู้รับศีลๆ มาเป็นลำดับ นี่ก็เป็นภาคปฏิบัติที่เราได้ปฏิบัติประจำ กาย วาจา ใจของเราตลอดมา จากนั้นก็ปฏิบัติทางด้านอรรถด้านธรรม ให้เป็นความสงบเย็นใจเป็นลำดับลำดา

อยู่สถานที่ใดให้พึงเป็นผู้สำรวมระวัง มีหิริโอตตัปปะประจำใจ สำรวมอยู่ด้วยธรรมด้วยวินัย ไปที่ใดมาที่ใดอย่าให้ขาดสติ ซึ่งเป็นเครื่องรับรู้ตนเองว่าเคลื่อนไหวไปอย่างไรบ้าง นับตั้งแต่กิริยาของจิตออกไปที่คิดดีคิดชั่วประการใด ให้มีสติระมัดระวัง ยับยั้งไว้เสมอในความคิดที่เป็นภัยต่อศีลต่อธรรมของตน การบำเพ็ญธรรมก็ให้บำเพ็ญด้วยความจงอกจงใจ ประหนึ่งว่ามรรคผลนิพพานนี้อยู่ตรงหน้าของเรา อยู่ชั่วเอื้อมๆ สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นทางก้าวเข้าสู่มรรคผลนิพพาน เป็นอย่างนี้มาตลอดเวลา

ให้มีความสำรวมระวังภายในจิตใจด้วยความมีหิริโอตตัปปะ สำรวมระวังศีลของตน อย่าให้ด่างพร้อยจะกลายเป็นพระขาดบาทขาดตาเต็งไป ศีลไม่ครบองค์ของศีลที่ประทานไว้แล้ว รับมาแล้วมาทำให้ด่างพร้อยขาดทะลุ สูญสิ้นไปหมด เหลือแต่โมฆภิกษุไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ยิ่งร้ายกว่าประชาชนที่เขาไม่มีศีลมีธรรมเสียอีก เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ระมัดระวังรักษาศีล ซึ่งเป็นคุณค่าอันใหญ่หลวงของเรา แล้วสมาธิ ปัญญาก็ให้พึงพากันเจริญ ทำตามรอยของศาสดาเพื่อมรรคผลนิพพาน

เมื่อศีลก็บริสุทธิ์เรียบร้อยแล้ว หาความเดือดร้อน หรือเคลือบแคลงสงสัยในศีลของตนอันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่มี จิตใจก็พุ่งเข้าสู่จิตตภาวนาโดยไม่มีความระแคะระคายกับสิ่งใด ด้วยความมีสติ คือการภาวนา ท่านทั้งหลายผู้บำเพ็ญมายังไม่ค่อยเข้าใจก็มีอยู่มาก ผู้เข้าใจแล้วก็พึงทราบว่า ให้เพิ่มเติมความเข้าอกเข้าใจของตนให้สืบเนื่องไปโดยลำดับ ด้วยความเป็นผู้มีจิตใจใคร่ต่อจิตตภาวนา การภาวนานี้เป็นรากเหง้าแห่งพระพุทธศาสนา หรือเป็นสมบัติอันล้นค่าของพระผู้บวชมาในพระพุทธศาสนา จะต้องเป็นผู้บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เป็นลำดับลำดาขึ้นไป จนกระทั่งถึงมรรค ผล นิพพาน ด้วยจิตตภาวนา

คำว่า “จิตตภาวนา”  ได้แก่การอบรมสั่งสอนจิตใจตนเอง ผู้ภาวนาพึงมีบทธรรมเพื่อตั้งรากฐานเบื้องต้น อย่าปล่อยวางคำบริกรรม นี่คือผู้ฝึกเบื้องต้น ตามธรรมดาของจิตชอบคิดในแง่ต่างๆ ซึ่งเป็นทางเดินของกิเลสมาดั้งเดิม มักจะคิดอยู่เสมอ จึงต้องระงับดับความคิดอันเป็นทางเดินของกิเลสนั้นเข้ามาด้วยบทคำบริกรรมภาวนา โดยมีสติเป็นเครื่องกำกับรักษา เข้มงวดกวดขันเวลาภาวนา อย่าให้เผลอไปที่ไหนจากคำบิกรรม มีคำบริกรรมผูกมัดจิตใจไว้ และสติเป็นนายควบคุมคำบริกรรมไม่ให้เผลอ แล้วในวันหนึ่งๆ ก็ให้ทำอย่างนี้ เรียกว่าเราเสาะแสวงหาสมบัติอันล้นค่าคือธรรม

               เบื้องต้นให้ได้สมถธรรมก่อน พยายามทำจิตใจของตนให้เป็นความสงบจากอารมณ์ที่ก่อกวน ซึ่งเนื่องมาจากกิเลสทั้งนั้น ให้สงบตัวเข้าไปด้วยบทคำบริกรรมภาวนา เป็นเครื่องระงับดับสิ่งวุ่นวายที่คิดปรุงอยู่เสมอจากกิเลสนั้น เมื่อคำบริกรรมของเราต่อเนื่องทำความคิดความปรุงในด้านธรรมะ คือคำบริกรรมแทนกิเลสที่มันเคยคิดเคยปรุงนั้นไม่ให้คิด ให้คิดแต่เรื่องคำบริกรรม เช่น ท่านผู้ใดมีความรักใคร่ หรือสนิทติดใจกับคำบริกรรมใด เช่น พุทโธบ้าง ธัมโมบ้าง สังโฆบ้าง ตลอดถึงอานาปานสติ

ในวงกรรมฐาน ๔๐ ห้อง